ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

 

การบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงาน(403-4)

                บริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงาน ประกอบด้วย ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพของบริษัท ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของระบบมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO45001 และกฎหมายด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง

 

           

 

พร้อมทั้งได้จัดตั้งฝ่ายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ในการประสานงานและติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของโรงงานทุกแห่งให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง นโยบาย แผนงาน และเป้าหมายที่บริษัท กำหนด รวมถึงการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยง การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมรับทราบอย่างสม่ำเสมอ

                ตลอดจนการแต่งตั้งคณะกรรมการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานในแต่ละโรงงาน ซึ่งเป็นตามกฎกระทรวงบริหารการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงาน พ.ศ. 2549 ประกอบด้วยผู้แทนจากพนักงานระดับปฏิบัติการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของคณะกรรมการทั้งหมด โดยตัวแทนพนักงานระดับปฏิบัติการมาจากการเลือกตั้งแยกตามสายงานเพื่อให้มีตัวแทนพนักงานจากทุกสายงาน ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีบทบาทหน้าที่ในการรับข้อมูลจากพนักงานแต่ละสายงานผ่านตัวแทน และแจ้งข่าวสาร พร้อมติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานและแผนการดำเนินงานในอนาคต รวมทั้งการพัฒนา ปรับปรุง ส่งเสริม และสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการปลูกฝังวัฒนธรรม และการพัฒนาทักษะความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สำหรับพนักงาน ผู้รับเหมา และผู้เกี่ยวข้องที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่โรงงาน เช่น การอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ด้านความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน การจัดกิจกรรมสัปดาห์ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม การอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน การซ้อมดับเพลิงและการอพยพเบื้องต้น การอบรมความรู้ในการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น CPR & AED การเข้าร่วมกับเครือข่ายด้านความปลอดภัยในการรณรงค์และจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัย เป็นต้น

 

การบริการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน(403-3, 403-6)

                บริษัทได้กำหนดให้มีการบริการที่ส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยภายในองค์กร ที่ครอบคลุมการให้บริการ และการส่งเสริมสุขภาพที่ดีในสถานที่ปฏิบัติงาน อาทิ

  • ห้องพยาบาลภายในสถานที่ปฏิบัติงาน โดยมีแพทย์ และพยาบาลประจำเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเจ็บป่วย การปฐมพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บแก่พนักงานและผู้รับเหมา
  • การตรวจสุขภาพพนักงานตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องปฏิบัติงาน ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน และการตรวจสมรรถภาพปอด การตรวจคลื่นหัวใจ (EKG) กรณีทำงานในที่อับอากาศ
  • การตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งการตรวจสุขภาพทั่วไปและตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีวอนามัย โดยมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ และนักอาชีวอนามัยของบริษัท ร่วมกันกำหนดรายการตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานจากปัจจัยภายใน และภายนอกสถานที่ทำงาน หากพนักงานมีผลตรวจสุขภาพผิดปกติจะต้องเข้าพบแพทย์และรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง การกำหนดรายการตรวจเพิ่มเติมตามความเสี่ยงของกลุ่มอายุ เช่น การตรวจไขมันในเลือด (Total Cholesterol ,LDL ,HDL ,ไตรกลีเซอไรด์) ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพพนักงาน เพื่อให้ครอบคลุมโรคที่อาจจะเกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน และเพื่อให้พนักงานเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง
  • กำหนดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล (OPD) ให้กับพนักงาน บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  • กำหนดสวัสดิการเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ สำหรับกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เช่น การตรวจ และการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การรักษาในกรณีเหตุฉุกเฉินที่ห้องพยาบาลของบริษัท ให้แก่พนักงานและผู้รับเหมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งบริการตรวจสุขภาพประจำปี การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิดกับพนักงาน

 

การอบรมพนักงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย(403-5)

  บริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยป้องกันและระงับอัคคีภัยที่จำเป็นสำหรับพนักงานและผู้รับเหมาที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน ประเภทของงานที่ต้องปฏิบัติ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจในสิ่งที่อาจเป็นอันตรายและก่อให้เกิดอุบัติเหตุ วิธีการป้องกัน และควบคุมอันตรายในขณะปฏิบัติงาน สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ด้วยความปลอดภัย โดยกำหนดให้มีการประเมินผล บันทึก และจัดเก็บประวัติการฝึกอบรม

หัวข้อหลักสูตรอบรม

จำนวนผู้อบรม (คน)

 

ผู้รับเหมา

พนักงาน

รวม

อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานสำหรับลูกจ้างทั่วไปและลูกจ้างใหม่

53

11

64

โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม

0

11

11

การดับเพลิงขั้นต้น

0

11

11

ทบทวนการทำงานในที่อับอากาศ

0

221

221

การอบรมหรือทบทวนการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น

0

80

80

ความปลอดภัยในกาทำงานเกี่ยวกับรังสี

0

10

10

ประเด็นความเสี่ยงและเทคนิคการทำงานให้ปลอดภัย

53

11

64

ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

53

11

64

 

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

        พนักงานและผู้รับเหมาที่เข้ามาปฏิบัติงานในบริษัทมีความเข้าใจในเนื้อหาตามหลักสูตรด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการทำงานของตนเอง โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน ทั้งสามารถจัดการกับความเสี่ยงนั้นๆ ได้ สามารถรับมือกับสภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน การผลิต และสิ่งแวดล้อม  ส่งผลให้แต่ละหน่วยงานมีความพร้อมในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้ในปี 2566 นี้บริษัทมีผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565  โดยมีอัตราความถี่ของการบาดเจ็บ (Injury Frequency Rate: IFR)  ต่อล้านชั่วโมงการทำงานในปี 2566  เท่ากับ 1.31 ซึ่งลดลง 0.46 เมื่อเทียบกับปี 2565 มีจำนวนชั่วโมงทำงานที่ไม่มีอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานคิดเป็น 1,700,016 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 34,071 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับปี 2565  และอัตราการเจ็บป่วยและโรคจากการทำงานที่ต้องการบันทึกทั้งหมดของพนักงานและผู้รับเหมาเท่ากับ 0 ราย อีกทั้งการจัดอบรมให้ผู้รับเหมาดังกล่าวยังถือเป็นการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืนกับคู่ค้าด้วย

 

การเตรียมความพร้อมในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน(403-7)

                บริษัทได้จัดให้มีแผนงานการตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉิน โดยโรงงานทุกแห่งจะมีการจัดทำแผนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ตลอดจนการกำหนดให้มีการซ้อมแผนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเป็นประจำทุกปี เช่น กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล หม้อไอน้ำระเบิด เป็นต้น ทั้งนี้ให้มีการประเมินและการซ้อมแผนฉุกเฉินดังกล่าว เพื่อนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ประกอบกับบริษัทได้จัดให้มีการอบรมเพื่อเติมความรู้ความชำนาญให้กับพนักงานที่มีหน้าที่ในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน เช่น การอบรมการผจญเพลิงขั้นสูง การระงับเหตุสารเคมีรั่วไหล การอบรมด้านการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

 

 

 

 

ผลการดำเนินงาน

            บริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการวัดผล และประเมินการทำงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ในสภาพแวดล้อมการทำงาน โดยพิจารณาจากอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ปลอดภัย อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นเสียชีวิต และจำนวนการเจ็บป่วยหรือโรคจากการทำงาน โดยมีผลการดำเนินงานในปี 2565 ดังนี้

ตาราง ข้อมูลพนักงานและลูกจ้างที่อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบริษัท(403-8)

 

 

จำนวน (คน)

ร้อยละ

พนักงาน และลูกจ้างสถานประกอบการที่ถูกควบคุม หรือดูแลโดยองค์กร

พนักงาน

993

100

ลูกจ้าง

84

100

พนักงาน และลูกจ้างสถานประกอบการที่ถูกควบคุม หรือดูแลโดยองค์กร (และได้รับการตรวจสอบโดยองค์กร)

พนักงาน

353

35.55

ลูกจ้าง

35

41.67

พนักงาน และลูกจ้างสถานประกอบการที่ถูกควบคุม หรือดูแลโดยองค์กร (และได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรภายนอก)

พนักงาน

103

10.38

ลูกจ้าง

23

27.38

หมายเหตุ :              พนักงาน หมายถึงบุคลากรของบริษัท ฯ  ลูกจ้าง หมายถึง บุคลากรของสถานประกอบการอื่นที่ถูกควบคุม หรือ ดูแลโดยบริษัท ภายใต้ มาตรฐาน ISO45001

 

ตาราง ข้อมูลการบาดเจ็บ และปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (403-9, 403-10)

ผลการดำเนิน

2564

2565

2566

อัตราการเสียชีวิต

0

0

0

อัตราของการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับงานที่มีผลกระทบสูง

0

0

0

อัตราความถี่ของการบาดเจ็บ (IFR) ของพนักงาน

(จำนวนครั้งต่อ 1 ล้านชั่วโมงการทำงาน)

1.79

1.77

1.31

อัตราความถี่ของการบาดเจ็บ (IFR) ของผู้รับเหมา

(จำนวนครั้งต่อ 1 ล้านชั่วโมงการทำงาน)

0

0

0

อัตราการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน (LTIFR) ของพนักงาน

(จำนวนครั้งต่อ 1 ล้านชั่วโมงการทำงาน)

1.79

1.77

1.31

อัตราการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน (LTIFR) ของผู้รับเหมา

(จำนวนครั้งต่อ 1 ล้านชั่วโมงการทำงาน)

0

0

0

อัตราการเจ็บป่วยจากโรคจากการทำงาน

0

0

0

ชั่วโมงทำงานที่ไม่มีอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน

1,624,536

1,665,945

1,700,016

จำนวนเหตุฉุกเฉินระดับ 3 (เพลิงไหม้ สารเคมีหกรั่วไหล ระเบิด และอาคารพังทลาย)

0

0

0