การเลื่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563

ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค

ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ

ขยะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

นายประชัย เลียวไพรัตน์
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
เรียน ท่านผู้ถือหุ้น
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Municipal Solid Waste-MSW) รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน และเป็นโรงกำจัดขยะชุมชนใหญ่ที่สุดของประเทศ ไทย และของโลก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทเป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) โดยเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อเติบโตอย่างสมดุลในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม บนพื้นฐานการดูแลกำกับกิจการที่ดี (Environmental, Social, Governance: ESG) ทั้งนี้เพื่อบริหารจัดการกิจการให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล
ผลการดำเนินงาน
ในปี 2565 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายรวม 10,200 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 3,914 ล้านบาท มีอัตราส่วนภาระหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (สุทธิ) ต่อ EBITDA เพียง 3.49 เท่า (Net IBD/EBITDA)
บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในปี 2565 จำนวน 2,813 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 4,191 ล้านบาท ในปี 2564 เนื่องจาก ส่วนเพิ่มของราคาซื้อไฟฟ้า (Adder) ของโรงไฟฟ้า 2 โรง จากทั้งหมด 3 โรง ได้หมดอายุลง อย่างไรก็ตามราคารับซื้อไฟฟ้าฐาน (Base tariff) ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT Charge) อย่างต่อเนื่องในปี 2565 นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้ใช้เชื้อเพลิงขยะแทนถ่านหินได้มากขึ้น ซึ่งเชื้อเพลิงขยะมีข้อได้เปรียบโดยมีต้นทุนและความผันผวนด้านราคาที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งจะเกิดประโยชน์และลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจให้แก่บริษัทต่อไป
ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้เป็น “A-” (Single A Minus) แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่”
ด้วยกระแสเงินสดที่มั่นคงของบริษัท ซึ่งได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านเชื้อเพลิง และต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงจากโครงการทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profiel) ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ระดับ “a” โดยอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ ของบริษัทมีกรอบจำกัดไม่เกินไปกว่าอันดับเครดิตของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน (ในฐานะบริษัทแม่) ซึ่งได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็นระดับ “A-” (Single A Minus) จากเดิมที่ระดับ “BBB+” (Triple B Plus) โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” จัดทำโดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566
ตั้งเป้ากลุ่มทีพีไอโพลีนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 39% จากปีฐาน (ปี 2020) ภายในปี 2030 (2573) และก้าวเข้าสู่ NET ZERO ภายในปี 2043 (พ.ศ. 2586 )
บริษัทมีนโยบายดำเนินธุรกิจแบบ Net Zero Greenhouse Gas Emission โดยมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการปล่อย CO2 เน้นการใช้พลังงานสะอาด และเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ในระดับสูงสุดและปลอดภัย โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ กลุ่มทีพีไอโพลีนตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 39% จากปีฐาน (ปี 2020) ภายในปี 2030 (2573) และก้าวเข้าสู่ NET ZERO ภายในปี 2043 (พ.ศ. 2586 ) โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) 100% ที่ผลิตจากขยะชุมชน (Municipal solid waste – MSW) หรือเชื้อเพลิงทดแทนอื่น แทนการใช้เชื้อเพลิง ฟอสซิล และถ่านหิน ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของบริษัท และในกระบวนการผลิตปูนซิเมนต์ของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน ซึ่งเป็นการผลิตที่ลดปริมาณคาร์บอนให้มากที่สุด (Low carbon production) เพื่อลดปัญหาโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก และลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ( Net Zero GHG Emission) และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ได้ประกาศต่อนานาชาติในการประชุม COP26 ที่ Glasgow ในปี 2021 ว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)
โรงกำจัดขยะชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
บริษัทจัดเป็นโรงกำจัดขยะชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง โดยโรงกำจัดขยะของบริษัทจัดเป็นโรงกำจัดขยะชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทได้เปิดดำเนินการโรงผลิตเชื้อเพลิงขยะโรงที่ 2 (สามารถผลิตเชื้อเพลิงขยะได้ 2,400 ตันต่อวัน เพื่อส่งขายให้แก่โรงปูนซิเมนต์ของ บมจ.ทีพีไอ โพลีน) ซึ่งเมื่อรวมกับโรงผลิตเชื้อเพลิงขยะโรงที่ 1 ส่งผลให้บริษัทสามารถรับกำจัดขยะชุมชนได้รวมทั้งสิ้น ประมาณวันละ 15,000 ตัน หรือปีละ 5.5 ล้านตัน (สามารถผลิตเชื้อเพลิงขยะได้รวมทั้งสิ้น 7,200 ตันต่อวัน)
ในปี 2565 บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตโรงผลิตเชื้อเพลิงขยะ โดยได้ก่อสร้างโรงผลิตเชื้อเพลิงขยะ โรงที่ 3 รวมทั้งขยายโรงงานผลิตเชื้อเพลิงขยะร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อรองรับปริมาณขยะที่ต้องกำจัดรวมทั้งสิ้นอีกวันละ 8,500 ตัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 (เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงขยะแทนถ่านหินทั้งหมดในปี 2568 ของโรงไฟฟ้าของบริษัท) ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งที่สามารถรับกำจัดขยะได้รวมทั้งสิ้นวันละ 23,500 ตัน (สามารถผลิตเชื้อเพลิงขยะได้ประมาณ 11,750 ตันต่อวัน)
ร่วมกำจัดขยะติดเชื้อโควิด-19 จำนวนประมาณ 14,986 ตันในปี 2565
ในปี 2565 บริษัทได้ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สังคม โดยรับกำจัดขยะติดเชื้อโควิด-19 จำนวนประมาณ 14,986 ตัน จากสถานบริการสาธารณสุขที่ต้องได้รับการจัดการที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ในช่วงภาวะระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน
อยู่ระหว่างปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ
บริษัท มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการทั้งหมด จำนวน 220 เมกะวัตต์ มาใช้เชื้อเพลิงขยะทดแทน 100% ซึ่งคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในช่วงปี 2566-2568
ในช่วงปี 2564-2565 บริษัทฯ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม รับจัดการปัญหาขยะติดเชื้อท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเป็นโรงกำจัดขยะติดเชื้อโควิด-19 ที่ถูกส่งเข้ามากำจัดที่โรงงานทั้งหมด ด้วยกระบวนการจัดการที่ได้การรับรองมาตรฐาน ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับภาครัฐเป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพสูง สามารถกำจัดมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มกำจัดในปี 2564 จำนวน 3,892 ตัน และในปี 2565 จำนวน 14,986 ตัน ตามลำดับ
ก้าวสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดสีเขียวเต็มรูปแบบ
ในปี 2565 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะในจังหวัดสงขลา (7.92 เมกะวัตต์) และจังหวัดนครราชสีมา (9.9 เมกะวัตต์) ปริมาณขายไฟฟ้ารวม 17.82 เมกะวัตต์ โดยได้รับค่ากำจัดขยะและค่าจำหน่ายกระแสไฟฟ้า มีระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจพลังงานได้ประกาศการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากบริษัทเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ในต้นปี 2566 มีกำหนดแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2567
นอกเหนือจากการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงขยะแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการเติบโตในธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเป็น CLEAN & GREEN POWER COMPANY โดยสมบูรณ์
บริษัทยังได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 60 เมกะวัตต์ และขนาด 61.226 เมกะวัตต์ ในพื้นที่โรงงานในจังหวัดสระบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ในการขายไฟฟ้าเพิ่มให้แก่โรงงานปูนซิเมนต์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตปูนซิเมนต์ โดยกำหนดแล้วเสร็จประมาณปี 2567
ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดพันธกิจที่จะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในธุรกิจพลังงานสะอาดสีเขียว โดยการเข้าร่วมเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่างๆที่ภาครัฐจะได้กำหนดเงื่อนไขให้ภาคเอกชนเข้าร่วมรับการคัดเลือก เพื่อการประมูลโรงไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) ตามที่มีการประกาศโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากเชื้อเพลิงขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม และพลังงานสีเขียว จากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม
รวมพลังช่วยเหลือสังคม ชุมชน และพนักงาน
ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้รวมพลังบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่สังคม ชุมชน และพนักงาน จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 และโครงการช่วยเหลือสังคมด้านอื่นๆ เป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 48.55 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการมอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดทุนทรัพย์ บริจาคผลิตภัณฑ์กลุ่มทีพีไอโพลีนเพื่อใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารเรียน จำนวน 20 โรงเรียน ทั่วประเทศ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมและบริจาคผ้าห่มกันหนาวให้กับผู้ประสบภัยหนาวในจังหวัดต่างๆ บริจาควัสดุก่อสร้างให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีวัดต่างๆ และสนับสนุนน้ำดื่มทีพีไอพีแอลให้แก่กิจกรรมจิตอาสาและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น
การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน
ในปี 2565 คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้นำประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ (Materiality) ทั้ง 3 ด้าน ซึ่งครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการกำกับดูกิจการที่ดี เพื่อกำหนดเป็นนโยบายด้านความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการเป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ให้บรรลุวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาความยั่งยืน ให้สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มทีพีไอโพลีน โดยได้มีการนำประเด็นความยั่งยืนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทมาจัดทำรายงานความยั่งยืนปี 2565 ตามมาตรฐานขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยรายงานสากล (Global Reporting Initiative : GRI)
ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาความยั่งยืน
ด้วยความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อกระบวนการทำงานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ส่งผลให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับรางวัลและการรับรองจากองค์กรที่เป็นที่ยอมรับ ในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนี้
- ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในบริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จากการประเมินหลักทรัพย์จดทะเบียนในปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์
- ได้รับการรับรองโครงการ ESG Credit 2565 สำหรับโครงการการลงทุนสีเขียวโดยสถาบันไทยพัฒน์
- ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ประจำปี 2565 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies : CGR) ประจำปี 2565 ในระดับดีมาก (Very Good) โดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
ในนามของคณะกรรมการของบริษัท ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้น ท่านผู้ถือหุ้นกู้ สถาบันการเงินต่างๆ พนักงานของบริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ที่ได้ร่วมให้ความสนับสนุน และให้ความไว้วางใจบริษัทด้วยดีตลอดมา ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เกิดเป็นพลังผลักดันให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนร่วมกันมุ่งมั่นทุ่มเทความสามารถ ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตลอดจนสังคมไทยโดยรวม โดยเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้คนไทยมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
- กำหนดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรายละเอียดโครงการและการประเมินทางเลือกโครงการ (EHIA) โครงการท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์และท่าเทียบเรือน้ำลึกทีพีไอสงขลา บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
- กำหนดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรายละเอียดโครงการและการประเมินทางเลือกโครงการ (EHIA) โครงการท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปทีพีไอสงขลา บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
- กำหนดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลา บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
- กำหนดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ (EIA) โครงการสวนอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 1 บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)